วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

การสื่อสารท่ามกลางวิกฤต ในยุค โซเชียลมีเดีย กำลังเบ่งบาน

การสื่อสารท่ามกลางวิกฤต ในยุค โซเชียลมีเดีย กำลังเบ่งบาน
โดย เปรมศิริ ดิลกปรีชากุล


ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า โซเชียลมีเดีย ได้เปลี่ยนแปลงวิถีการสื่อสาร การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และการมีส่วนร่วมในเรื่องราวต่างๆ ของผู้คนไปอย่างสิ้นเชิง ผู้คนทั่วโลกสามารถแสดงความคิดเห็นร่วมกัน แสดงออกในเรื่องราวที่ตนสนับสนุน หรือ ต่อต้าน อย่างทีไม่เคยปรากฏมาก่อน วิดิโอแคมเปญที่แพร่กระจายในโซเชียลมีเดียสามารถปลุกระดม สร้างความเห็นร่วมของนับล้านมาแล้ว และบ่อยครั้งองค์กร หรือ หน่วยงาน ที่ตกเป็นเป้าหมายของแคมเปญเหล่านี้กลับไม่รับรู้ถึงความเคลื่อนไหวที่องค์กรของตนถูกต่อต้านเลย ซึ่งผิดกับในยุคของสื่อกระแสหลัก เพียงสื่อมวลชนโทรเข้าไปเพื่อขอข้อมูลเท่านั้น ก็ถือเป็นการส่งสัญญาณให้องค์กรเหล่านั้นได้รับรู้ว่ากำลังถูกจับตามองหรือถูกตรวจสอบในเรื่องใด
“แต่ในยุคของโซเชียลมีเดียพายุที่ก่อตัวขึ้นในโลกอินเตอร์เน็ตกำลังจะโหมกระหน่ำเข้าใส่ โดยที่เหยื่อแทบไม่ได้สังเกตเห็นอะไรเลย”
จึงไมน่าแปลกใจที่การสื่อสารองค์กรสมัยใหม่ จะให้ความสำคัญกับ โซเชียลมีเดีย ในฐานะที่เป็นปัจจัยคุกคามที่สำคัญต่อการเกิดวิกฤตการณ์ แต่ก็มีเพียงจำนวนน้อย ที่ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการ หรือ กระบวนการจัดการกับเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง
การจัดการวิกฤตการณ์ ที่มากับ โซเชียลมีเดีย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจกับลักษณะเฉพาะบางประการที่แตกต่างอย่างสินเชิงกับวิกฤตการณ์ ที่มาจากสื่อกระแสหลัก
ความแตกต่างประการแรกก็คือ

ความเร็ว

นับเป็นผลกระทบที่ชัดเจนที่สุดของโซเชียลมีเดีย ต่อการจัดการสื่อสารท่ามกลางวิกฤต ข้อมูลข่าวสาร ความคิดเห็น การรวมกลุ่ม การมีส่วนร่วมและการแสดงออกของของผู้คน ล้วนเคลื่อนไหวในอัตราเร่ง อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เรื่องราวต่างๆ ข้อมูลข่าวสารที่แพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างเป็นระบบและรวดเร็วในโลกของอินเตอร์เน็ต สร้างการตื่นตัวของผู้คนทั่วโลก การใช้เวลาในการรับมือหรือจัดการกับวิกฤตการณ์ตามทฤษฎีเดิม มักจะขึ้นอยู่กับกรอบเวลา deadline ของสื่อกระแสหลัก เวลาปิดข่าวของสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อทีวี วิทยุ ซึ่งความเร็วยังอยู่ในกรอบของชั่วโมง แต่การมาถึงของโซเชียลมีเดีย ได้เปลี่ยนมาเป็น นาทีต่อนาที ของการโพสต์ หรือ ทวีต ข้อความอย่างต่อเนื่องรวดเร็วทันเหตุการณ์ ดังนั้นการรับมือกับความเร็วของโซเชียลมีเดียนี้ ต้องการกลยุทธ์การดำเนินงานแบบใหม่ ที่ผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อสารองค์กรอย่างน้อยก็ต้องเข้าถ้ำเสือ เพื่อทำความรู้จักกับ สื่อใหม่ๆ โซเชียลมีเดียที่สำคัญของยุค วิธีการทำงาน เช่น Facebook, Twitter, Youtube, Google+ และก็เช่นเดียวกับแนวทางการจัดการวิกฤตการณ์แบบดั้งเดิม ผู้ปฏิบัติงานต้องรู้จัก และ ระบุ ได้ถึง ผู้อิทธิพล (ทางความคิด)และบทบาทของผู้คนเหล่านนี้ ในโซเชียลมีเดีย
ความแตกต่างประการที่สองก็คือ

ความสลับซับซ้อน

ควบคู่ไปกับการสื่อสารที่ทวีความเร็วแล้ว ความสลับซับซ้อนของวิธีการสื่อสาร และ ตัวสื่อเอง ก็กลายเป็นอีกปัจจัยที่น่าจับตามอง จากเดิมที่เราสามารถวัดกระแสสังคม ติดตามความสนใจของสาธารณชน จาก สื่อกระแสหลัก ได้แก่ หนังสือพิมพ์ฉบับหลักๆ หรือ ช่องข่าวทีวีที่คนดูมากๆ นั้น ไม่เพียงพอเสียแล้ว
ทุกวันนี้ แหล่งที่มาที่ก่อให้เกิดความสนใจของสาธารณชน หรือ สร้างกระแสสังคมได้นั้น ไม่ได้มีที่เฉพาะจากสื่อกระแสหลักอีกต่อไป เรื่องราว รูปภาพ วิดิโอ ที่โพสต์ขึ้น Facebook, Twitter สามารถเรียกร้องความสนใจของสาธารณชนได้อย่างรวดเร็ว ทั้งจาก Youtube เรื่องราวของ bloggers ไปจนถึง Wikis Leak อันโด่งดัง ล้วนเป็นแหล่งที่มาของข้อมูลข่าวสารยอดนิยมของคนยุคใหม่ทั้งสิ้น ดังนั้นการติดตามความเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดีย จึงเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง ที่องค์กรต่างๆ พึงจะต้องรับรู้ รับฟัง เพื่อที่จะได้รับรู้ถึงประเด็นความไม่พึงพอใจ หรือประเด็นที่อาจนำมาซึ่งปัญหาบานปลายเสียตั้งแต่เริ่มต้น

ความโปร่งใส

ในยุคที่โซเชียลมีเดียกำลังเบ่งบานนี้ แทบจะบอกได้ว่า เรื่องปิดลับ ทั้งหลาย ต่างก็ถูกขุดคุ้ยเปิดโปงไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลแบบ fake ที่โพสต์เข้าไปในโลกอินเตอร์เน็ต มักถูกเปิดโปงในเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้น ในสังคมโลกออนไลน์ การสื่อสาร อย่างโปร่งใส เป็นเรื่องที่ ควรเตรียมให้พร้อมก่อนที่จะก้าวเข้าไป ถ้าไม่เช่นนั้น สิ่งที่ปกปิดอยู่ก็จะถูกเปิดโปง เข้าสักวัน อย่างหลีกเลี่ยงไมได้

การมีปฏิสัมพันธ์

โซเชียลมีเดีย ได้เปิดเส้นทางการสื่อสารให้กับองค์กร ในการมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับบุคคล กลุ่มบุคคล สามารถเลือกที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนได้ ตอบคำถาม แก้ไขความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ได้อย่างตรงประเด็น ตรงกลุ่มเป้าหมาย แต่ด้วยการสนทนา ที่แตกต่างไปจากโลกของสื่อกระแสหลักที่พึงพาความไว้วางใจจากสื่อมวลชนทั้งหลาย โซเชียลมีเดียจึงนับเป็นอีกหนทางหนึ่งที่เปิดไว้ให้องค์กร ใช้บริหารจัดการวิกฤตการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงในการจัดการสื่อสารท่ามกลางวิกฤต

ในขณะที โซเชียลมีเดีย ได้สร้างชุดของความท้าทายและโอกาสใหม่ๆ แต่สิ่งที่ต้องย้ำเน้นก็คือ หลักการพื้นฐานในการบริหารจัดการการสื่อสารท่ามกลางวิกฤตยังคงไม่เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด แผนงานการบริหารวิกฤตการณ์ และการสื่อสาร ยังคงต้องเตรียมไปพร้อมๆ กับ การแสดงออกอย่างจริงใจ โปร่งใส ขององค์กร ในจัดการกับวิกฤตการณ์ โดยยึดถือประโยชน์ของผู้บริโภคหรือลูกค้าเป็นสำคัญ และที่แน่นอนก็คือ สื่อกระแสหลัก ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างกระแสสังคม ถึงแม้ว่าสื่อ ออนไลน์จะเข้ามามีบทบาทในการจุดกระแส แต่ทันที่ที่สื่อกระแสหลักเข้ามาผสมโรง กระแสนั้นจะสามารถเปลี่ยนจากประเด็นปัญหา....กลายเป็นประเด็นวิกฤตไปในที่สุด และประเด็นวิกฤตนี้ก็จะหวนกลับมาลุกโชนในโลกออนไลน์อีกครั้งหนึ่ง

วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2552

สยาม พีอาร์ ชูกลยุทธ์พีอาร์ปี 53
จับตามอง Social Media สื่อใหม่กำลังมาแรง

บริษัท สยาม พีอาร์ คอนซัลแทนท์ จำกัด เผยกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ปี 2553 ให้จับตามองความเปลี่ยนแปลงของสื่อ โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ที่ผู้บริโภคข่าวสารให้ความนิยมลดน้อยลงและหันมาบริโภคข่าวสารผ่านดิจิตอล มีเดียกันมากขึ้น แนะพร้อมรับมือกับกลยุทธ์ Social Media ช่องทางการสื่อสารใหม่ที่กำลังมาแรง และทรงอิทธิพลในหมู่ผู้บริโภค

นางเปรมศิริ ดิลกปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยาม พีอาร์ คอนซัลแทนท์ จำกัด ผู้ให้บริการที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์แบบครบวงจร แสดงความเห็นเรื่องกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ ปี 2553 ในงานสัมมนา ทิศทางการสื่อสารการตลาดปี 2553 ว่า แนวโน้มช่องทางการสื่อสารการตลาดในปีนี้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง และจะยิ่งเห็นได้ชัดในปี 2553 โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากการนั่งอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ทุกเช้าเป็นการเข้าถึงข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เช่น การอัพเดทข่าวสารผ่านทางมือถือ หรือการเสิร์ชหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ท จึงส่งผลกระทบครั้งใหญ่กับวงการสื่อสิ่งพิมพ์ด้านยอดผู้อ่าน และรายได้จากโฆษณาลดลง ทำให้หนังสือพิมพ์บางเล่มจำต้องปรับตัวโดยลดปริมาณยอดพิมพ์ จำนวนหน้า และบางแห่งต้องปิดตัวลง อ้างอิงข้อมูลจากสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งอเมริกาที่พบว่ายอดรายได้ของสื่อสิ่งพิมพ์ลดลงเป็นประวัติการณ์สวนทางกับยอดรายได้โฆษณาทางสื่อออนไลน์ที่เติบโตขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นแนวโน้มช่องทางการสื่อสารการตลาดในปี 2553 กำลังเข้าสู่ยุคของสื่อดิจิตอล มีเดีย อย่างแท้จริง

“เทคโนโลยีที่ทันสมัยในปัจจุบันทำให้ดิจิตอล มีเดีย กลายเป็นช่องทางการสื่อสารใหม่ที่กำลังมาแรง และทรงอิทธพล เพราะเป็นการสื่อสารที่สะดวกรวดเร็วสามารถอัพเดทได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งนักการตลาดทั่วโลกเริ่มใช้สื่อ Social Media ทำการตลาดมากขึ้นถึง 66%ผ่านทางเว็บไซต์ยอดนิยมอย่าง Facebook, YouTube และ Twitter” นางเปรมศิริ กล่าว

นางเปรมศิริ กล่าวเพิ่มเติมว่า Social Media คือ รูปแบบการสื่อสารที่มุ่งสร้างความสัมพันธ์ในเครือข่ายทางสังคมแบบใยแมงมุม ผู้คนจะอยู่ร่วมกันในรูปแบบชุมชน มีปฏิสัมพันธ์กัน มีส่วนร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ความรู้ ตามความสนใจของแต่ละบุคคล ซึ่ง Social Media เป็นสื่อที่ทำให้บุคคลธรรมดาทั่วไปมีพื้นที่ในการแสดงความคิด สร้างสรรค์ผลงานผ่านโลกออนไลน์ ดังนั้น เราจึงได้เห็นบุคคลทั่วไปกลายเป็นคนดังในวงสังคม ได้เห็นบล็อกเกอร์ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องต่าง ๆ จำนวนมากเกิดขึ้นและกลายเป็นผู้นำทางความคิดแห่งโลกออนไลน์ จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่นักการตลาด และนักประชาสัมพันธ์ในประเทศไทยควรจะตื่นตัว และพร้อมรับมือกับกลยุทธ์การสื่อสารในรูปแบบใหม่นี้

สำหรับกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ปี 2553 นักการตลาด และนักประชาสัมพันธ์ควรจะผสมผสานการใช้สื่อพื้นฐาน เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ และวิทย เข้ากับการสื่อสารแบบ Social Media เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เร็วขึ้น มากขึ้น และสร้างกระแสความสนใจให้เป็น Talk of the Town และควรทำการศึกษา ทำความเข้าใจรูปแบบของสื่อ Social Media ที่มีความแตกต่างจากสื่อพื้นฐานทั่วไป เพื่อสามารถทำการตลาด และประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อช่องทางใหม่ที่ทรงอิทธิพลต่อผู้บริโภคในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ นางเปรมศิริ กล่าว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
บริษัท สยาม พีอาร์ คอนซัลแทนท์ จำกัด
โทร. 02-693-7835-8

วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2552

อยากได้ลูกเสือก็ต้องเข้าถ้ำเสือ

น่าจะเป็นสโลแกนของคนพีอาร์ ในวันนี้ หากต้องการที่จะเข้าไปในเครือข่ายใยแมงมุมนี้ละก็ ต้องลืมการสื่อสาร การทำประชาสัมพันธ์ แบบเดิมๆ ไปก่อน (ไม่ได้หมายความว่าทิ้งไปหมดนะ หากยังต้องพึ่งพาสื่อเดิมๆ ก็ยึดแนวทางเดิม) แต่สำหรับ Social Media แล้ว ให้เริ่มต้นจากข้อที่ 1. ทัศนะคติของคนพีอาร์ที่มีต่อ สมาชิกเครือข่ายคือ เขาไม่ใช่ Audience ไม่ใช่ผู้รับสาร พวกเขาเป็นเหมือนเพื่อนของเรา ที่คบหากัน มีสัมพันธภาพ relationship 2. ท่าทีของเราต้องเปลี่ยนจาก Selling story มาเป็น Telling story ฉะนั้น จะเล่าเรื่องให้ถูกใจสมาชิกได้ก็ต้อง รับฟัง พูดคุย แลกเปลี่ยน 3. เรื่องที่เล่าไป ก็ต้องเป็นเรื่องที่เรารู้จริง จริงใจ และพร้อมที่จะเปิดรับข้อคิดเห็น คำวิพากษ์วิจารณ์ของสมาชิกในเครือข่าย เรียกว่าต้องมีท่าทีแบบอ่อนน้อมถ่อมตน นอกจากการหวังพึ่ง Blogger ที่เป็นผู้นำทางความคิดในสังคมเครือข่ายใยแมงมุมแล้ว คนพีอาร์ก็ควรฝึกวิทยายุทธ์ในการเข้าถึงสมาชิกเครือข่ายได้ด้วยตนเอง วันนี้ คนพีอาร์กำลังเผชิญหน้ากับ การประชาสัมพันธ์ ที่เปลี่ยนแปลงไป The Game is Changing ที่พวกเรา ต้องปรับตัวให้เข้ากับความท้าทายใหม่ๆ ให้ทัน

วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2552

Social Media สังคมเครือข่ายใยแมงมุม ตอนที่ 4

สมาชิก Social Media เรียกว่าช่วยกันถักทอเครือข่ายด้วยวิถีของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารซึงกันและกัน และวัฒนธรรมแบบนี้ ก็ได้ให้กำเนิด influencer ยุคดิจิตอลขึ้นมา คือ Blogger ซึ่งมีบทบาทเป็นผู้นำทางความคิด คล้ายๆ กับ สื่อมวลชน แต่ที่แตกต่างกันมากๆ ก็คือ สื่อมวลชน ดำรงบทบาทผู้นำทางความคิดเพราะ มีปากกา มีเครื่องมือสื่อสารอยู่ในมือ ความรู้ข้อมูลข่าวสารเป็นภารกิจที่สื่อจะไปสรรหามานำเสนอ ในขณะที่ Blogger สั่งสมบารมีมาจากผู้รู้จริง หรือผู้ที่มีความมุ่งมั่นในเรื่องนั้นๆ เรื่องที่เขาให้ความสนใจอย่างแท้จริง จนสมาชิกชุมชน ต่างก็ยอมรับ เรียกว่าต้องใช้เวลาในการสั่งสมประสบการณ์ บารมี กว่าจะมาเป็น Blogger ที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อสมาชิกในเครือข่ายได้ Blogger จึงกลายเป็นผู้นำทางความคิดกลุ่มใหม่ ที่นักการตลาด ต่างก็เบนเข็มมุ่งไปหา จึงไม่น่าแปลกใจว่า วันนี้การทำงานการตลาด ประชาสัมพันธ์เริ่มมีการรวบรวม list ของ Blogger เหล่านี้ ในฐานะสื่ออีกแขนงหนึ่งด้วย การเข้าถึง Blogger จะช่วยให้เราเข้าถึงสมาชิกเครือข่ายนั้นด้วย หรือไม่.............มีคำตอบตอนต่อไป

วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2552

ชุมชนเครือข่ายใยแมงมุม ตอนสาม

Social Media สื่อใหม่ที่คนพีอาร์ ต้องสนใจ (ตอน 3)

ก่อนจะเข้าหาชุมชนใยแมงมุม ก็ต้องรู้จักแคแรคเตอร์เขาก่อน Social Media ไม่ใช่ Traditional Media เขาอยู่กันแบบแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร กัน ย้ำแบบมี Conversation คือ สนทนาแลกเปลี่ยน ไม่ใช่ทฤษฎีสื่อสารเดิมๆ แบบมีผู้ส่งสาร ผู้รับสาร และตัวกลาง คือ medium เอามาใช้ไม่ได้จ้ะ ในชุมชนใยแมงมุม ทุกคนเป็นทั้งผู้ส่งสาร ผู้รับสารและผู้เผยแพร่ วิเคราะห์ข้อมูล สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป คือทุกคนมีส่วนร่วมและที่สำคัญ ขอย้ำ สำคัญ ข้อมูลข่าวสารที่เขาสนทนาแลกเปลี่ยน นั้นส่วนใหญ่ล้วนเป็นข้อเท็จจริงจากประสบการณ์ รู้ลึก รู้จริง แบบวงใน บ่อยครั้งก็รู้ก่อน รู้มากกว่าสื่อมวลชน จนบางทีสื่อก็ต้องมาหยิบจับประเด็นจากชุมชนใยแมงมุง ไปทำเป็นข่าว คนพีอาร์ที่ซุ่มซ่ามหลงเข้าไปแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ เขาก็จับได้ว่า เป็นพวกเอเลี่ยน หลายคนก็หน้าแตกมาแล้ว เพราะถูกเปิดโปงจากสมาชิกชุมชนว่า พยายามเข้าไปขายของ เพราะ คนพีอาร์ส่วนใหญ่จะคุ้นชินกับการนำเสนอด้านเดียว แบบ แลกเปลี่ยนสนทนา นั้นยังไม่รู้ว่าทำกันยังไง.....................(ยังมีต่อตอนที่ 4)

วันอังคารที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2552

Social Media สื่อใหม่ที่คนพีอารฺต้องสนใจ (ตอน 2)

Social Media สื่อใหม่ที่คนพีอาร์ ต้องสนใจ (ตอน 2)

การเข้าหา ชุมชนใยแมงมุมที่ว่า ก็ถือเป็นศาสตร์และศิลป์ ที่คนพีอาร์ต้องช่วยกันคิดค้น ก็ขอจุดประกาย จากแนวคิดของฝรั่งก่อนก็แล้วกัน ที่ อเมริกา วงการพีอาร์กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์กันขนานใหญ่ ด้วยสาเหตุที่ไม่ปรับตัว หรือปรับตัวช้าไป แบบสังคมค่อนข้างจะรังเกียจวิธีการเก่าๆ ของคนพีอาร์ที่เอาแต่ส่ง press release แบบไม่ลืมหูลืมตา และคิดไปเองว่า ข่าวประชาสัมพันธ์ของตัวเองน่ะ เจ๋งสุดๆ จนพวก บล็อกเกอร์ดังๆ ถึงขั้น ทำ blacklist พีอาร์เห่ยๆ กันเลย เตือนๆ กันไว้ก่อนที่พีอาร์ไทยจะโดนเข้ามั่ง วงการพีอาร์ที่นั่นก็เลยตื่นตัวกันยกใหญ่ ถึงขั้นหลายๆ มหาวิทยาลัย เปิดหลักสูตรว่าด้วย Social Media ไปจนถึงการสื่อสารกับ Social Media นับว่าเป็นมิติใหม่กันจริงๆ...........(โปรดติดตามตอนที่ 3 ที่นี้เข้าเรื่องจริง ๆ ละ)

วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2552

Social Media สื่อใหม่ที่คนพีอาร์ ต้องสนใจ

สื่อใหม่ ที่ได้ชื่อว่า Social Media กำลัง มาแรง แซงทางโค้งจริง ๆ และก็เป็นสื่อที่มี ฟอร์มแตกต่างจากสื่อเดิมๆ ที่เราคุ้นเคย โดยสิ้นเชิง เพราะ Social Media เป็นสื่อที่เกิดมาจาก คนทั่วๆ ไป ธรรมดา สามัญ ไม่จำกัดอายุ เพศ วัย ความรู้ สถานภาพทางสังคม ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นนักข่าว สื่อมวลชน ก็สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการให้ แลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร จนปัจจุบัน เครือข่าย Social Media นี้ ได้กลายเป็นชุมชนใยแมงมุมโยงใยกันไปทั่วโลก ทำให้เรา สามารถพูดคุยกันแบบ ตัวต่อตัว one on one แบบ หนึ่งต่อ หลายๆ one to many หรือ แบบหลายต่อหลาย many to many ได้ทุกรูปแบบ และที่สำคัญคือข้อมูลข่าวสารที่แลกเปลี่ยนกันไปมา ถึงกับทำให้ ผู้เชี่ยวชาญ หรือมืออาชีพทั้งหลายต้องอึ้งกันไป เพราะ ชุมชนที่รู้จริง รู้ลึก รู้มาก แสนรู้ไปหมด ปิดทาง พวกนักการตลาด การสื่อสาร ทั้งหลายต้องอึ้ง (กิมกี่) ไปตามๆกัน เพราะ วิธีส่งสารแบบ one way ticket นั้น หมดความขลังลงไปเรื่อยๆ เพราะชุมชนใยแมงมุม เขามีพรรคพวกเพื่อนฝูงอยู่ทั่วโลก (ย้ำว่าทั่วโลก) แล้วแบบนี้ คนพีอาร์ ยังนิ่งเฉยได้ก็กระไรอยู่นะ........ (โปรดติดตามตอนต่อไป)